วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

คำถามที่ 20: มหาวิทยาลัยจะสื่อสารและรับรู้ความคาดหวัง ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของนักศึกษาและบุคลากรผ่านช่องทางใดบ้าง

ในระยะแรก มหาวิทยาลัยมีช่องทางการสื่อสารกับนักศึกษาและบุคลากร โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปรับสถานะสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ดังนี้
1. การประชุมเพื่อให้ข้อมูลและรับฟังความคาดหวัง ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของนักศึกษาและบุคลากร ซึ่งจะมีการจัดเวทีในทุกวิทยาเขตมหาวิทยาลัย
2. การสื่อสารผ่านทาง e-Mail งานประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยที่ hatyai-pr@group.psu.ac.th
3. การสื่อสารผ่าน Facebook: PSU Autonomy ที่ https://www.facebook.com/ groups/ 502809166466344/ ซึ่งเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนและเสนอความคิดเห็นต่อการก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
4. การให้คำตอบต่อคำถามที่พบบ่อย PSU Autonomy: FAQ ที่ http://psuautonomy.blogspot.com/
5. การให้ข้อมูลผ่าน Website ของมหาวิทยาลัยในทุกวิทยาเขต และ จดหมายข่าว
6. การสำรวจการรับรู้ ความคาดหวัง และความคิดเห็นของประชาคม ม.อ.ผ่านระบบออนไลน์ (อยู่ระหว่างการดำเนินงาน)

คำถามที่ 19: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยึดมั่นหลักการใดในการขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นรักษามาตรฐานทางวิชาการไว้อย่างเข้มแข็งด้วยค่านิยม PSU ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือ การดำเนินงานระดับมืออาชีพในทุกภารกิจ (P-Professionalism) ด้วยสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม (S-Social Responsibility) โดยพลังร่วมของบุคลากรทุกฝ่ายจากทั้งห้าวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (U-Unity) ภายใต้การบริหารจัดการที่คำนึงถึงโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาของนักศึกษา ความมั่นคงของบุคลากร หลักธรรมาภิบาล และผลสำเร็จของงาน

คำถามที่ 18: การมีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยจะมีนโยบายในการดูแลช่วยเหลือนักศึกษาที่มีฐานะยากจนอย่างไร

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยึดมั่นในปณิธาน “ถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” มุ่งสร้างความเสมอภาคและโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทุนการศึกษาเพื่อสนับสนุนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทั้งที่เป็นทุนยกเว้นค่าเล่าเรียน ทุนการศึกษาจากคณะวิชา จากมหาวิทยาลัย และทุนจากหน่วยงานและบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยและคณะต่าง ๆ ได้ดำเนินการอยู่แล้ว 

คำถามที่ 17: ข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นจะนำไปใช้เพื่อการใด

การรับฟังความคิดเห็น ฯ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ให้ประชาคมได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเพื่อนำไปใช้ในการยกร่าง พ.ร.บ. และ การจัดทำข้อบังคับ ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อห่วงใยจากนักศึกษาและศิษย์เก่าผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อการสื่อสารและการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจนระหว่างกัน กิจกรรมประกอบด้วยการจัดประชุม สัมมนา อภิปราย เสวนา ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง 5 วิทยาเขตของมหาวิทยาลัย 

คำถามที่ 16: ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ มีกี่แห่งที่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2556 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ 9 แห่ง ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ในจำนวนนี้มี 5 แห่งที่ปรับสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 4 แห่งดัง มีการดำเนินการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ อย่างชัดเจน 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่วนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยสุดท้ายที่เริ่มขับเคลื่อนในเรื่องนี้ โดยความเห็นชอบของที่ประชุมคณบดีครั้งที่ 4/2556 วันที่ 4 เมษายน 2556 และจะดำเนินการร่างพระราชบัญญัติ และ ข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี 

คำถามที่ 15: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีการเตรียมการอย่างไรบ้าง ในกระบวนการปรับสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

1. การวางแผนและกำหนดทิศทางดำเนินงานในภาพรวม ศึกษาหลักการของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ รวมทั้ง ศึกษาเปรียบเทียบพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ การวิเคราะห์ข้อดี และจุดอ่อน เพื่อนำข้อดีมาเป็นหลักในร่างพ.ร.บ. พร้อมทั้งพิจารณาหาหนทางป้องกันแก้ไขจุดอ่อนที่อาจจะเกิดขึ้น ภารกิจนี้รับผิดชอบโดย คณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นประธาน

2. การจัดเตรียมด้านกฎหมาย คือ การร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย คณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติ ฯ มีรองอธิการบดี อาจารย์พิชิต เรืองแสงวัฒนา เป็นเป็นประธาน ฯ

3. การจัดเตรียมระเบียบ ข้อบังคับของมหาวิทยาลัย คือ การร่างข้อบังคับและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคณะทำงานยกร่างข้อบังคับ ฯ มีรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและการเงิน ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ เป็นประธาน ฯ

4. การเตรียมความพร้อมในเรื่องของความรู้ความเข้าใจของประชาคม ม.อ. ต่อนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยปรับเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลต่อเรื่องนี้โดยละเอียดและต่อเนื่อง รวมทั้งเปิดโอกาสให้บุคลากรและนักศึกษาได้แสดงความคิดเห็น วิพากษ์ วิจารณ์นโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐอย่างเต็มที่ รับผิดชอบโดยคณะกรรมการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาคม ม.อ. ฯ มีรศ.ดร.เกริกชัย ทองหนู รองอธิการบดีฝ่ายระบบสารสนเทศและโครงสร้างกายภาพ เป็นประธาน ฯ 


คำถามที่ 14: มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจะได้รับงบประมาณจากภาครัฐเฉพาะเงินเดือนบุคลากรเท่านั้นใช่หรือไม่

ทางรัฐบาลยังคงให้การสนับสนุนงบประมาณแก่มหาวิทยาลัยเหมือนเดิมทั้งในส่วนเงินเดือน งบดำเนินการ งบครุภัณฑ์ ที่ดินสิ่งก่อสร้าง รวมทั้งเงินอุดหนุนโครงการต่าง ๆ การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เป็นการปรับเปลี่ยนระบบบริหารให้คล่องตัวไม่ต้องใช้ระเบียบราชการ ทำให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยยึดหลักธรรมาภิบาลกำกับการดำเนินงาน

คำถามที่ 13: มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลแตกต่างกับมหาวิทยาลัยนอกระบบอย่างอย่างไร

มหาวิทยาลัยนอกระบบ คือ มหาวิทยาลัยนอกระบบราชการ เช่น มหาวิทยาลัยเอกชน ส่วนมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแต่ไม่มีสถานะเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบริหารโดยถือปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัยเอง

คำถามที่ 12: ความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เมื่อเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐมีขอบข่ายเพียงใด

เนื่องจากการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะไม่กำหนดรูปแบบที่ตายตัวของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล เพียงแต่ไม่ต้องใช้ระเบียบราชการอีกต่อไปด้วยการสร้างระบบใหม่ที่คิดว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุดของตัวเอง โดย สกอ. จะให้อิสระการบริหารจัดการกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่าง ๆ ทุกอย่างแก่มหาวิทยาลัยให้เป็นผู้กำหนดระเบียบการบริหารงานต่าง ๆ ได้เองโดยยึดหลักธรรมาภิบาล ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและประสิทธิภาพการบริหารงาน มหาวิทยาลัยจึงต้องพัฒนารูปแบบหรือกำหนดแนวปฏิบัติที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมขององค์กร ให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการ ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน ฯลฯ มหาวิทยาลัยมีบทบาทที่สำคัญยิ่ง ในการกำหนดคุณภาพและประสิทธิภาพของตนเอง โดยยังคงมีสถานภาพเป็นองค์กรของรัฐที่มุ่งผลิตบัณฑิต วิจัย บริการวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมโดยไม่หวังผลกำไร


คำถามที่ 11: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะปรับไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเมื่อใด

นโยบายของรัฐในการให้มหาวิทยาลัยของรัฐทั้งหมดต้องปรับสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐภายในปี พ.ศ. 2545 ตราบจนถึงปัจจุบันปี พ.ศ.2556 นโยบายนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในฐานะที่เป็นส่วนราชการอยู่ในปัจจุบันก็ต้องเตรียมตัว เตรียมความพร้อม เตรียมตั้งรับต่อการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ตามนโยบายของรัฐบาล

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เลือกที่จะกำหนดให้เราเป็นมหาวิทยาลัยสุดท้ายที่จะปรับเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพราะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องทำความเข้าใจแนวความคิดให้ชัดเจน วิเคราะห์ผลดีผลเสีย กำหนดทิศทางการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐให้ชัดเจน นอกจากนี้ ยังต้องทำความเข้าใจ เปิดโอกาสให้บุคลากรและนักศึกษาได้มีส่วนร่วม แล้วดำเนินการด้วยความรอบคอบ เตรียมการด้านกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ให้มีความสมบูรณ์ที่สุด


คำถามที่ 10: การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ฯ จะช่วยยกระดับการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่

จะช่วยยกระดับการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจะเอื้อต่อการให้มหาวิทยาลัยสามารถปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้มีการ ทำงานตามความรู้ความสามารถ มีผลิตผลที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการตามเป้าหมายของมหาวิทยาลัย

คำถามที่ 9: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลได้หรือไม่

ปัจจุบัน นโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ให้มหาวิทยาลัยของรัฐทั้งหมดปรับเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐยังมีอยู่ ยังไม่เปลี่ยนแปลง ยกเลิก และอีกระยะหนึ่งเมื่อบุคลากรของมหาวิทยาลัยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งหมด ระบบบริหารบุคคลของมหาวิทยาลัยจะไม่ใช่ระบบราชการโดยปริยาย ดังนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล และต้องร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพราะต้องการกำหนดอนาคตของมหาวิทยาลัยเอง ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐโดยอาศัย พ.ร.บ. กลางหรือ พ.ร.บ.สถาบันการศึกษาอื่นที่มีผลเป็นกฎหมายแล้ว


คำถามที่ 8: นักศึกษาและบุคลากรจะมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นหรือเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างได้หรือไม่

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง และสนับสนุนให้ร่วมคิด ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อให้มองรอบด้านถึงข้อดี และจุดอ่อนของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยพร้อมนำความคิดเห็นที่แตกต่างของบุคลากรและนักศึกษามาพิจารณาในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ


คำถามที่ 7: การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ใครได้ประโยชน์

สังคมและประเทศชาติจะได้ระบบอุดมศึกษาที่ดี มหาวิทยาลัย จะได้วัฒนธรรมองค์กรที่มีการทำงานตามความรู้ความสามารถที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ มีผลิตผลที่มีประสิทธิภาพและสนองตอบต่อความต้องการของสังคมและประเทศชาติ ผู้ปกครอง นักศึกษา จะมีความมั่นใจและพึงพอใจในระบบอุดมศึกษาของประเทศที่รัฐจัดให้ โดยมีมาตรฐาน เท่าเทียมกับนานาชาติ สำหรับบุคลากรฝ่ายที่ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยจะมีระบบการทำงานและ ระบบการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพและมีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น 

คำถามที่ 6: การออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ จะมีผลกระทบต่อบุคลากรมากน้อยแค่ไหน

ในประเด็นของบุคลากรที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น จะไม่มีผลกระทบในทางลบ แต่น่าจะมีผลดีมากกว่าเพราะพนักงานมหาวิทยาลัยจะเป็นบุคลากรส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัย และระเบียบต่างๆ จะเอื้อต่อการบริหารบุคคลที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ในส่วนข้าราชการนั้นการออกไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยจะขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ยกเว้นผู้บริหารที่จะต้องเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย

คำถามที่ 5: การออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ จะมีผลกระทบต่อนักศึกษามากน้อยแค่ไหน

นักศึกษาจะได้รับการบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับระบบการบริหารจัดการและการเงินที่มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ  แต่หลายคนอาจจะตั้งประเด็นว่าการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ จะมีการขึ้นค่าเทอมสูงขึ้น ซึ่งในข้อนี้เป็นการเข้าใจผิดเพราะการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ฯ นั้นรัฐบาลยังสนับสนุนงบประมาณอยู่ ดังนั้นการขึ้นค่าเทอมไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ฯ หรือไม่ เพราะในปัจจุบันนี้ถึงแม้จะเป็นมหาวิทยาลัยในระบบราชการก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นค่าเทอมตามอัตราเงินเฟ้อ เช่น ในปี 2557 มหาวิทยาลัยมีแผนที่จะปรับค่าเทอม และจะปรับทุก ๆ 3 ปีตามอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น

คำถามที่ 4: การเริ่มต้นอีกครั้งของ ม.อ.บนเส้นทางการปรับเปลี่ยนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ฯ เกิดขึ้นเมื่อใด

เกือบ 7 ปี นับจากที่ประชุมคณบดีครั้งที่ 13/2549 วันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 ได้มติให้ชะลอการยืนยันร่างพระราชบัญญัติ ฯ มาถึงช่วงเวลานี้ ที่ประชุมคณบดีครั้งที่ 4/2556 วันที่ 4 เมษายน 2556 ซึ่งจัดประชุมที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการเตรียมการขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยของเราปรับสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ  จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาคม และให้นำความคิดเห็นเหล่านั้นมาพิจารณาในขั้นตอนการร่างพระราชบัญญัติ และ ข้อบังคับของมหาวิทยาลัย โดยได้กำหนดให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี 

คำถามที่ 3: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เริ่มต้นกระบวนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลตั้งแต่เมื่อใด

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ดำเนินการเรื่องการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ มาตั้งแต่ปี .. 2543 โดยเริ่มดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. ... และนำเข้าสู่กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาคมของมหาวิทยาลัยอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่กระบวนการยกร่างพระราชบัญญัติ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้รับทราบ และการเสนอความเห็นและปรับปรุง โดยมี รศ.ดร.โคทม อารียา เป็นประธานในการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งกระบวนการของการมีส่วนร่วมดังกล่าวเป็นการรับรู้ร่วมกันในการก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ ตามรูปแบบวิธีการที่พิจารณาความเหมาะสมกับรูปแบบการบริหารมหาวิทยาลัยหลายวิทยาเขตในอนาคต และได้ดำเนินการเรื่อยมาจนถึงขั้นตอนนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ  แต่การปรับปรุงแก้ไขร่างพรบ.ดังกล่าวโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ครั้งที่ 2 สิงหาคม 2548) ได้เปลี่ยนแปลงกรอบหลักคิดและเจตนารมณ์ของร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับเดิมไปค่อนข้างมาก เช่นประเด็นการเป็นมหาวิทยาลัยหลายวิทยาเขต เป็นต้น

ต่อมาวันที่ 27 ตุลาคม 2549 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาขอให้มหาวิทยาลัยนำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล ที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสภามหาวิทยาลัยมีมติเป็นประการใดแล้ว ขอให้แจ้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รับทราบเพื่อจะได้นำร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณานำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป มหาวิทยาลัยจึงได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติ ฯ ต่อที่ประชุมคณบดีในคราวประชุมครั้งที่ 13/2549 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 เพื่อพิจารณาการยืนยันร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ .… (ร่าง พ...มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ) ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นเบื้องต้นว่า ในการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ยังมีความไม่ชัดเจนในการดำเนิน งานหลายประเด็น จนเป็นที่ห่วงใยของหลาย ฝ่าย จึงมีมติให้ชะลอการยืนยันร่างพระราชบัญญัติ ฯ ไว้ก่อน เมื่อมีความชัดเจนจะนำมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงยังคงค้างการพิจารณาในสภานิติบัญญัติฯ


คำถามที่ 2: ปัจจุบันมหาวิทยาลัยของรัฐเดิมมีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแล้วกี่สถาบัน

หากกำหนดกรอบเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐเดิมและที่จัดตั้งเพิ่มใหม่ ในองค์ประชุมของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยจำนวน 27 สถาบัน (ไม่รวมมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล) ปัจจุบันมหาวิทยาลัยของรัฐเดิมที่มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐมีจำนวนทั้งสิ้น 12 สถาบัน และยังคงสถานะเดิม 15 สถาบัน ในจำนวนนี้มีมหาวิทยาลัยที่อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

สำหรับในส่วนของ 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาตินั้น พบว่ามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติที่มีสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 4 สถาบัน แม้ปัจจุบันยังคงสถานะเดิม แต่ก็อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 3 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น


คำถามที่ 1: จำเป็นหรือไม่ที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล

ที่มาของเรื่องนี้มาจากการที่รัฐบาลได้กำหนดเป็นนโยบายให้มหาวิทยาลัยของรัฐทั้งหมด 20 แห่ง ปรับเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐภายในปี พ.ศ. 2545 โดยวัตถุประสงค์ในการปรับเปลี่ยนตามที่ปรากฏในสมุดปกขาว ของทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง หลักการและแนวปฏิบัติมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มี 2 ประเด็นคือ

1. เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติงานของสถาบันอุดมศึกษาให้มีความเป็นอิสระ คล่องตัว มีประสิทธิภาพเพื่อ ความเป็นเลิศทางวิชาการจึงให้ปรับเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่เป็นส่วนราชการ และ

2. เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ที่ให้รัฐบาลไทยกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง และชดเชยการขาดดุลของงบประมาณรายจ่ายในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 กรอบนโยบายหนึ่งที่ทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้นต้องรับผิดชอบดำเนินการ คือ การพัฒนาให้มหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่งเป็นมหาวิทยาลัยอิสระ (Autonomous University) หรือมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐภายในปี พ.ศ. 2545


ปัจจุบันมีหลายมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดลได้ออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ กันมากขึ้น และการดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในกำกับฯ มีความชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับการออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ฯ  มหาวิทยาลัยสามารถออกระเบียบในการดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระเบียบการเงิน หรือการบริหารบุคคลต่างๆได้เอง ซึ่งจะช่วยให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เกิดความคล่องตัว และลดความซ้ำซ้อนลงได้ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในปัจจุบันเนื่องจากการจำกัดอัตรากำลังของภาครัฐ